Sunday, September 30, 2012

หลักการสัมภาษณ์งานที่ดี ทั้งผู้สัมภาษณ์-ผู้ตอบคำถาม




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          สำหรับหลาย ๆ คน ที่อยากทำงานที่ใช่ บริษัทที่ชอบแล้วล่ะก็ การเตรียมพร้อมก่อนการสัมภาษณ์ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำช่วยให้คุณฝ่าฟันอุปสรรคสุดหินนี้ไปได้อย่างสบาย ๆ ซึ่งการเตรียมตัวที่ว่านี้ ได้แก่การที่ผู้ให้สัมภาษณ์ต้องสร้างความประทับใจให้กับกรรมการสอบสัมภาษณ์
นอก จากภาพลักษณ์ภายนอก ที่ต้องแต่งกายสุภาพ ให้เหมาะสมกับกาลเทศะแล้ว การทำให้กรรมการสอบเห็นว่าผู้สอบสัมภาษณ์มีความเชี่ยวชาญในสายงานที่เลือก หรือมีความคิดอ่านที่ชัดเจนก็สำคัญไม่แพ้กัน

          โดย เริ่มแรก ผู้สอบสัมภาษณ์จะต้องศึกษารายละเอียดในตำแหน่งงานที่ตนสมัคร รวมถึงต้องทำความรู้จักเกี่ยวกับประวัติของบริษัทที่ตนมาสัมภาษณ์อย่างคร่าว ๆ ซึ่งการที่ผู้ตอบสัมภาษณ์รู้ข้อมูลเหล่านี้มาก่อน นอกจากจะช่วยให้มั่นใจงานที่ตนเลือกแล้ว กรรมการสอบสัมภาษณ์จะได้รู้สึกว่า ผู้สอบสัมภาษณ์ได้ผ่านการเตรียมตัวมาก่อน  ขณะเดียวกันผู้สอบสัมภาษณ์มีเรื่องที่ต้องระวังดังนี้

          1. ความตรงต่อเวลา หากผู้สอบสัมภาษณ์ไม่อาจบริหารจัดการตัวเองได้  ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของบริษัท ดังนั้นผู้สอบสัมภาษณ์ต้องเผื่อเวลาในการเดินทางเพื่อไปถึงก่อนเวลานัดหมาย แต่หากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ควรรีบโทรศัพท์แจ้งผู้นัดหมาย พร้อมอธิบายเหตุผลทันที

          2. ในการตอบคำถามไม่ควรพูดเรื่องครอบครัว หรือเรื่องส่วนตัวมากจนเกินไป และไม่ควรแสดงกิริยาที่ไม่สุภาพ เช่น ล้วง แคะ แกะ เกา หรือเป็นกันเองกับกรรมการสอบสัมภาษณ์มากเกินไป ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการล้ำเส้น

          3. อย่าตอบคำถามแบบยกตนข่มท่าน โดยคิดว่าตนเองฉลาดกว่าผู้อื่น หรือมองว่าคนอื่นเป็นโง่

          4. แสดงทัศนคติที่ดี ว่าคุณพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทั้งเรื่องงาน และเรื่องรอบตัว

          5. เมื่อต้องอธิบายถึงประสบการณ์ในการทำงาน ควรยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างชัดเจน แต่หากไม่มีประสบการณืในเรื่องนั้น ๆ ควรแจ้งกรรมการสอบสัมภาษณ์ไปโดยตรง และแสดงให้เห็นว่า คุณต้องการเพิ่มเติมทักษะในเรื่องดังกล่าว และสนใจงานนี้จริง ๆ

          นอก จากการตอบคำถามแล้ว ผู้สอบสัมภาษณ์ควรมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของเอกสารต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในใบสมัครทั้งประวัติส่วนตัว  ประวัติการทำงาน เอกสารที่จำเป็นอื่น ๆ ตลอดจนรูปถ่าย สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน เผื่อกรรมการสอบสัมภาษณ์จะเรียกหาเพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา อีกด้วย


          ทั้งนี้ ในการสอบสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ มักมีคำถามหลักไม่แตกต่างกันมากนัก  ดังนั้น ผู้สอบสัมภาษณ์ สามารถเตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้าได้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการสอบสัมภาษณ์ โดยแนวคำถามหลัก ๆ มีดังนี้


          ตัวอย่างคำถามที่พบบ่อยในการสอบสัมภาษณ์
           กรุณาเล่าประวัติส่วนตัวคร่าว ๆ

          ทำไมคุณถึงออกจากงานเดิมที่ทำอยู่

          ทำไมคุณจึงเลือกมาสมัครงานที่นี่

          ทำไมคุณถึงเลือกตำแหน่งงานนี้

          จุดเด่น และจุดด้อย ของคุณคืออะไร

          ถ้าได้งานนี้ คุณคิดว่าจะทำงานที่นี่นานเท่าไหร่

          อะไรคือสิ่งที่คุณชอบและไม่ชอบในงานเก่า

          คุณสามารถทำงานล่วงเวลาได้หรือไม่

          คุณวางแผนในอนาคตไว้อย่างไร

          คุณคาดหวังเงินเดือนเท่าไหร่

          อะไรคือความสำเร็จในการทำงานของคุณ

          ทำไมจึงคุณจึงเปลี่ยนงานบ่อยในอดีต

          คุณจะแก้ไขความขัดแย้งในทีมของคุณอย่างไร

          ทำไมเราจึงต้องเลือกคุณแทนที่จะเลือกผู้สมัครคนอื่น

          คุณมีวิธีจัดการกับความกดดันอย่างไร

          คุณมีอะไรจะถามไหม


          นอกจากแง่มุมที่เหมาะสำหรับผู้สอบสัมภาษณ์แล้ว การเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ก็ถือบทบาทสำคัญ สำหรับผู้บริหารในแต่ละองค์กร ที่ต้องคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้เข้ามาทำงานในองค์กรได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันผู้ บริหาร หรือระดับหัวหน้างาน ที่จะมาทำหน้าที่เป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ จะต้องอาศัยประสบการณ์ในการตั้งคำถาม และการสังเกตผู้สมัคร ทั้งทางด้านบุคลิก  ทัศนคติ  และการควบคุมอารมณ์ ดังนั้นกรรมการสอบสัมภาษณ์จึงต้องคำนึงถึงหลักสำคัญดังต่อไปนี้

          1. ควรใช้ทักษะในการอ่านใจคน โดยการตั้งคำถามอย่างมีชั้นเชิง ดังนั้นก่อนการสัมภาษณ์ควรศึกษาข้อมูลของผู้สมัครแต่ละรายในเบื้องต้น เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมที่สุดเข้ามาทำงานให้กับองค์กร

          2. ควรเป็นฝ่ายฟังมากกว่าเป็นฝ่ายพูด เพื่อเก็บข้อมูลจากผู้สมัครให้ได้มากที่สุด

          3. ควรหลีกเลี่ยงความลำเอียง ด้วยการใช้ความรู้สึกตัดสินคนอื่น เช่น ความรู้สึกที่ไม่ถูกชะตาตั้งแต่แรกเห็น กรรมการสอบสัมภาษณ์ควรใช้ข้อมูล และเหตุผลในการพิจารณามากกว่า

          4. ถึงแม้จะถูกใจผู้สมัครคนใดเป็นพิเศษ แต่ไม่ควรแสดงออกอย่างชัดเจน หรือตกลงเงื่อนไขอื่น ๆ โดยพลการ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นละเอียดอ่อนมาก

          5. ควรเปิดโอกาสให้ผู้สมัครสอบถามสิ่งที่ยังสงสัย เพื่อทำให้ผู้สมัครงานรู้สึกว่า องค์กรเปิดโอกาสให้เขาได้ซักถามสิ่งที่ต้องการบ้าง


          จากข้อมูลในเบื้องต้นนี้ จะเห็นได้ว่า การสวมบทบาทกรรมการสอบสัมภาษณ์ถือเป็นเรื่องยาก เพราะนอกจากต้องพิจารณาบุคลิกภาพ ไปพร้อมกับการวิเคราะห์การตอบคำถามของผู้สอบสัมภาษณ์อย่างเป็นกลางแล้ว กรรมการสอบสัมภาษณ์ยังต้องมองให้ลึกถึงทัศนคติ และแนวคิด ที่ผู้สอบสัมภาษณ์มีต่อคำถามและองค์กร เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละตำแหน่งงาน มาช่วยการพัฒนาให้องค์กรรุดหน้ามากยิ่งขึ้น 
  

ขอขอบคุณข้อมูลจาก     
siamhrm.com

No comments:

Post a Comment